2020-06-09 12:14
จำนวนครั้งที่อ่าน : 179
เด็กเรียนรู้ที่จะเกิดความรู้สึกไว้วางใจหรือเกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจจากสิ่งที่มีอยู่รอบตัว จากการที่เด็กได้รับการตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ หากมารดาให้ความรักและการดูแลเด็กอย่างสม่ำเสมอ ตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานทางกายและทางจิตใจอย่างต่อเนื่องจะทำให้ทารกพัฒนาความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจขั้นพื้นฐาน (Basic Trust) ต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม ความสำเร็จของพัฒนาการในขั้นแรกถือเป็นจุดพื้นฐานเริ่มต้นของการพัฒนาอัตลักษณ์ (Ego Identity) ของบุคคลซึ่งจะเกิดขึ้นชัดเจนในช่วงวัยรุ่น
สำหรับทารกที่มีความรู้สึกไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นถือเป็นความล้มเหลวของพัฒนาการขั้นแรกนี้ ความไม่ไว้วางใจอาจมาจากมารดาหรือผู้ดูแลมีปฏิกิริยาตอบสนองไม่เหมาะสมต่อความต้องการของเด็ก หรือมารดาที่เลี้ยงดูทารกด้วยความหงุดหงิด โกรธ ทารกจะแสดงพฤติกรรมเรียกร้องมากเกินควร อย่างไม่มีเหตุผล หรืออาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นๆ และพัฒนาความรู้สึกไม่ไว้วางใจต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม ไม่เข้าใจสิ่งแวดล้อม ไม่ไว้วางใจผู้อื่นในพัฒนาการขั้นต่อๆไป
สิ่งที่พ่อแม่หรือบุคคลที่ใกล้ชิดเด็กควรทำ : ให้ความใกล้ชิดกับลูก ตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานทางกายและทางจิตใจอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อทารกหิวก็ได้กิน ได้รับการสัมผัสลูบคลำด้วยความรัก ทะนุถนอม ได้นอนหลับอย่างสงบพอเพียง เมื่อขับถ่ายก็ได้รับการดูแลความสะอาด เพื่อให้ลูกสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเรา
ความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง (Sense of Autonomy) และการควบคุมตนเอง (Self Control) จะเกิดขึ้นได้ถ้าผู้ปกครองให้การอบรมเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม มีความมั่นคงอดทน ให้โอกาสเด็กได้ทำสิ่งต่างๆตามความปรารถนาของตนเองโดยอยู่ในการดูแลของผู้ปกครองจะทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง มีความรู้สึกที่ดีต่อผู้อื่น ผลดีอีกประการคือ เด็กจะพัฒนาความรู้สึกมุ่งมั่น (Will) ซึ่งหมายถึง ความมุ่งมั่นตั้งใจแน่วแน่ในการเลือก และในการยับยั้งตนเอง เด็กจะกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นและกล้าที่จะตัดสินมากขึ้น รวมทั้งมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการทำกิจกรรมต่างๆ
แต่หากผู้ปกครองปล่อยปละละเลย ดุว่า หรือเข้มงวดกับเด็กมากเกินไป เด็กจะรู้สึกละอาย สงสัยในความสามารถของตนเอง ไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็น ไม่มั่นใจว่าจะควบคุมชีวิตตนเองได้ ผลกระทบหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นคือทำให้เด็กมีบุคลิกภาพไม่เหมาะสม ขาดความเชื่อมั่น วิตกกังวล หวาดระแวงสงสัย หรือมีพฤติกรรมย้ำทำ
สิ่งที่พ่อแม่หรือบุคคลที่ใกล้ชิดเด็กควรทำ : คือ ปล่อยให้เด็กได้ค้นหาตัวเอง ได้เล่นอย่างอิสระ จัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และสนับสนุนให้เด็กได้ทำในสิ่งที่อยากทำ หรือปล่อยให้เขาได้สร้างตัวตนของเขาเองค่ะ เมื่อลูกได้รับการพัฒนาความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง และการควบคุมชีวิตตนเองอย่างเหมาะสม เมื่อโตขึ้นเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่จะสนับสนุน และเชื่อมั่นสถาบันทางกฎหมายของสังคม มีความเคารพและอยู่ภายใต้กฎหมายของสังคม
เป็นระยะที่เด็กเริ่มเรียนรู้บทบาททางเพศ มาตรฐานทางศีลธรรมและการควบคุมอารมณ์ เด็กเริ่มสร้างบุคลิกภาพและความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจากการได้มีกิจกรรมและประสบการณ์ร่วมกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว เรียนรู้ที่จะมีความคิดริเริ่มที่จะทำกิจกรรมต่างๆและมีความสนุกสนานกับสิ่งที่ได้คิดริเริ่ม หากเด็กได้รับการสนับสนุนและได้รับความสำเร็จก็จะยิ่งทำให้เด็กมีความกระตือรือร้นและกล้าคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆต่อไปอีก
หากเด็กวัยนี้ได้รับการจำกัดในการทำกิจกรรมหรือถูกตำหนิ เมื่อคิดและทดลองทำสิ่งต่างๆ จะทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดคัดค้านหรือความรู้สึกผิดเกิดขึ้นเนื่องจากเขาไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จดั่งใจและถูกลิดรอนหรือขัดขวางความสามารถของตนเอง ทำให้ความรู้สึกผิดเกิดสะสมในตัวเด็กและมีผลให้เด็กขาดความคิดสร้างสรรค์
สิ่งที่พ่อแม่หรือบุคคลที่ใกล้ชิดเด็กควรทำ : ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน หรือการมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ในสังคมจะเป็นการช่วยถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด เจตคติ ค่านิยมของสังคมให้แก่เด็กได้ทีละน้อย โดยมีผู้ใหญ่ช่วยกันประคับประคองให้เด็กพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ได้ เด็กวัยนี้ควรได้รับโอกาสทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามความสามารถอย่างอิสระ เช่น การเล่น การคิด การประดิษฐ์ การจินตนาการต่างๆ และควรได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ซึมซับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และหลักศีลธรรมจรรยา
เส้นทางที่ 4 คือ เส้นทางความพากเพียรอุตสาหะ VS เส้นทางความรู้สึกอ่อนด้อย ซึ่งจะเกิดขึ้นกับเด็กวัย 5-12 ปี
พัฒนาการระยะนี้เด็กต้องการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ชอบทำกิจกรรมต่างๆ สูงกว่าความสามารถตามการรับรู้ของตนเอง เป็นการทดลอง และเรียนรู้ศักยภาพ ของตนเอง ในขณะเดียวกันความกลัวความผิดพลาดหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ก็เป็นแรงผลักดันให้เขาพยายามทำกิจกรรมนั้นๆ ให้สำเร็จ เด็กจะพยายามเอาชนะ เพื่อความสำเร็จซึ่งเป็นแนวทางไปสู่ความเชื่อมั่นในตัวเองเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ กล่าวได้ว่าเด็กมีพลังอย่างเพียบพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อความสำเร็จในการทำงาน มีความขยันขันแข็ง พยายามคิดทำ คิดผลิตสิ่งต่างๆ ให้เหมือนผู้ใหญ่ด้วยการทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจ การได้รับคำชมเชย เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดกำลังใจ และมีความมานะพยายามมากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามเด็กไม่ได้รับความสนใจ หรือผู้ใหญ่แสดงออกว่าสิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องน่ารำคาญ เขาก็จะรู้สึกต่ำต้อย
สิ่งที่พ่อแม่หรือบุคคลที่ใกล้ชิดเด็กควรทำ : คอยให้คำแนะนำ สนับสนุน และส่งเสริมในสิ่งที่เด็กต้องการทำ คอยให้กำลังใจในการทำงานต่างๆ เปิดโอกาสให้เด็กได้ลองผิดลองถูกบนพื้นฐานของการมีคุณธรรมและจริยธรรม เมื่อเด็กทำได้ดีควรให้คำชม แต่หากเกิดความผิดพลาดต้องคอยให้กำลังใจและสอนให้เรียนรู้บทเรียนที่ได้รับไปพร้อมกับเด็ก